วันเสาร์ที่ 29 พฤศจิกายน พ.ศ. 2557

พายเรือน้อย...ลอยล่องในห้วงฝัน!?





       
     วันหยุด เสาร์อาทิตย์ ของคนในเมือง...ชีวิตพักผ่อนของคนทำงานก็คงหนีไม่พ้น การเดินเข้า ๆ ออก ๆ หรือนั่งเล่นให้ตัวเย็นฉ่ำแต่กระเป๋าตังค์อาจร้อนอยู่ตามห้างสรรพสินค้าดัง ๆ  ถือเป็นเทรนด์สำคัญและเป็นกิจประจำของมนุษย์ในยุคศตวรรษใหม่ ที่แทบทุกนาทีชีวิตต้องก้าวไปให้ทันกับเทคโนโลยี..และความสะดวกสบาย


         ผมก็คงไม่ต่างอะไรกับคนเหล่านี้...เพราะบางที การยอมปรับตัวให้เข้ากับยุคสมัยและวิถีที่พวกเค้าเปลี่ยนไป อาจช่วยให้ใครหลายคนรวมทั้งคนในครอบครัวไม่มองผมอย่างแปลกแยก...และกลายเป็นพวกหลงยุค..หรือแอนตี้สังคมอะไรประมาณนั้น

          ขณะนั่งรอหลาน ๆ เล่นกันอย่างสนุกสนานในห้องเล่นจ่ายตังค์ในห้างหรู...ห้อที่เต็มไปด้วยพวกพลาสติกและยางอัดลมสำหรับให้เด็กเล็กๆได้กระโดดโลดเต้นกัน..และท่ามกลางเสียงจอแจอย่างสนุกสนานระคนเสียงเพลงสำหรับเด็ก ๆ ที่ทางห้างเปิดเพื่อประกอบกิจกรรมให้เด็กเหล่านั้นเต้นไปกระโดดไปอย่างเต็มที่..ผมมองไปที่สายตาเด็ก ๆ เหล่านั้นราวกับอยากล้วงความลับในความสนุกนั้นว่า..พวกเขากำลังคิดถึงอะไร.....

          เสียงเพลงบางเพลงในห้องเล่นสำหรับเด็ก..ทำให้ผมคิดย้อนเวลากลับไปเมื่อครั้งอยู่ ม.ศ.1 สงขลาวัฒนา ....ครั้งหนึ่งและเวลาที่ผมได้พบกับผู้เปิดประตูแห่งโลกจินตนาการที่เชื่อว่าเด็ก ๆ ในโรงเรียนนี้ จะไม่สามารถหาได้อีกครั้งในชั่วชีวิต

          หญิงวัยกลางคน..ที่ทุกคนเรียก “คุณป้าสมใจ” .....นอกจากเธอจะคอยเดินตรวจตราความเรียบร้อย แทบจะทั้งหัวยันเท้าของเหล่าเด็ก ๆ ศิษย์รักของเธอแล้ว สิ่งที่เธอมักทำอยู่เสมอ คือหาโอกาสนำเอาบทกวี...บทเพลงต่างๆ  มาให้เด็ก ๆ ได้ฝึกหัดขับร้องหัดร่ายกันบ่อยครั้ง

          ด้วยสาระแห่งบทประพันธ์จากโลกกว้าง...ผมไม่ประหลาดใจเลยว่า เหตุใด บทเพลงของนักประพันธ์..หรือกวีในอดีตนั้น แต้ละถ้อยความ..แต่ละท่อนเพลงล้วนบรรจงด้วยตัวอักษรวิจิตร..ท่วงทำนองงดงาม และที่สำคัญ ล้วนสอดแทรก คตินิยม..หรือปรัชญาฝังใจให้แก่เด็กนับแต่วัยเยาว์และที่สำคัญคือ “จินตนาการ” ไว้ตลอดเวลา


Row, row, row your boat

Gently down the stream
Merrily, merrily, merrily
Life is but a dream….


          เสียงเพลง พายเรือน้อย....ลอยล่องตามกระแส มักได้ยินกันทั้งโรงเรียนสลับเปลี่ยนหมุนเวียนกันตั้งแต่ชั้นประถม ยัน มัธยมห้าหก
!

          เพลงเก่าที่ชื่อ Row, row, row your boat  ซึ่งนับอายุอานามมาถึงปัจจุปันก็ว่ากันที่ร้อยกว่าปีและก็ยังหาบทสรุปไม่ได้ว่า ต้นฉบับเพลงเป็นของใครระหว่าง อเมริกันชน..หรือคนสก๊อตแลนด์

          ผมอยู่ ม.ศ.1 ..กำลังจะเป็นหนุ่มแล้ว...ก็ต้องร้องเพลงนี้.....
          ไอ้หนูตัวน้อย ป.4 ที่ยังไม่รู้ตัวว่า ชีวิตนับต่อไปนี้ต้องมีกุงเกงในเป็นส่วนหนึ่งของอาภรณ์ ก็ต้องร้องเพลงนี้
          หรือไล่ขึ้นไปถึงรุ่นพี่ ๆ ม.ศ.4-5 นั่นก็ใช่ว่าจะรอด...เพราะเพลงนี้ก็ต้องเอามาฝึกหัดร้องกันให้กระหึ่มโรงเรียน

          เมื่อความวิริยะบวกอุตสาหะของสาวใหญ่ใจดีที่เด็กทุกคนเรียกเธอว่า “คุณป้า” มาถึงกำหนดใครจะไปเชื่อว่าวันหนึ่งในห้องเรียนชั้นประถมชั้นล่างถูกปรับเปลี่ยนให้โรงเรียนเรามีทีมนักร้องประสานเสียงแบบ “สหวัย” ในวันหนึ่ง


          ผมจำความรู้สึกในวันนั้นได้ว่า...มันช่างเสียเกียรติไม่น้อยที่ต้องมายืนร้องเพลงร่วมกับพวกเกรียนประถมสามประถมสี่ และคิดว่าคงเป็นความรู้สึกเดียวกันแต่อาจแย่ของพวกพี่ ๆ ม.ศ 4-5 ที่ต้องมายืนตัวโตขนหน้าแข้งโด่โดยมีหัวเกรียนประถมยืนเด๋อด๋าทำเป็นก๋าเทียบรุ่นอยู่แถวหน้า พร้อมข้อกังขาในใจว่าเหตุใดชีวิตที่กำลังเตรียมก้าวไปสู่รั้วมหาวิทยาลัย..ไฉนต้องมายืนร้องเพลง “อนุบาล”

         เสียงเคาะโต๊ะ “ป๊อกๆๆ
!”  เป็นสัญญานจากคอนดักเตอร์กิตติมศักดิ์ เมื่อเธอเริ่มร่ายไม้...พวกเราเริ่มบทเพลงนี้ด้วยความกระท่อนกระแท่น!

          “เอาใหม่!...เอาใหม่!!...และ เอาใหม่!!!  เป็นคำสั่งหลายคราจนสุดท้าย จากกระท่อนกระแท่นโหวกเหวกและวนเวียน....ระคนความอดทน..ไม่นานนักสิ่งที่เกิดขึ้นคือ “บทเพลงร่วมวัย” ที่ฟังแล้วมันคือบทเพลงมหัศจรรย์!

          เมือทุกคน..เริ่มมีสติ และ ละ..ลด ความเป็น “รุ่น” และ “อัตตา” ความสามัคคีจึงเป็นเครื่องมือนำพาให้บทเพลงนี้กลายเป็น “เพลงของพวกเรา” ในที่สุด

          เธอผู้เป็นคอนดักเตอร์  สอนให้เห็นว่า   "Life is but a dream" คือนิยามสำคัญของเพลง..คือการเปิดประตูให้คนทุกผู้..ทุกวัย ควรตระหนักและเข้าใจสิ่งสำคัญที่สุดที่ชีวิตจะพึงมี นั้นคือ “ความฝัน”



 

          “ชีวิตนี้มีฝัน” คือปรัชญาแฝงในเพลง ที่กลายเป็นอมตะที่ผมไม่รู้ว่าจะมีกี่คนได้ซึมซับความหมายนี้ไปใช้บ้างหรือไม่?

           แน่นอน..ว่า เวลาเพียงแค่สี่ซ้าห้าสิบปีนี้มันได้เปลี่ยนวิถีชีวิตคนทั่วโลกไปเสียมาก..และที่สำคัญ คงเป็นสิ่งที่น่าคิดกันว่า...ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีได้ทำให้เราเข้าถึงสิ่งที่ไม่คาดคิดได้มากและเร็วเกินไปหรือไม่?

          จึงมีคำถามว่า “ชีวิตนี้มีฝัน” ที่เราเคยได้รับจากสิ่งที่เรียกว่า “จินตนาการ”  ในวัยเด็กนั้น..บัดนี้มันได้กลายเป็นเพียง “ฝันอันเลือนลาง” สำหรับเด็กในยุค 3-4 G ไปเสียแล้ว


         โลกดิจิตอล...กับสังคมยุคใหม่ ที่คนไทย “ไร้จินตนาการ” กำลังทำให้เรากลายเป็นเมืองใหญ่แต่ “ไร้สังคม” กันในที่สุด

           ชีวิตที่ต้องก้มหน้า...แทบไม่เงยมองคนรอบข้าง...ทำให้เลยจุดสมดุลของสิ่งที่เรียกว่า “สังคม” แบบที่สัตว์โลกควรจะเป็นไปไกลโข
          เราอยู่กันแน่นขนัดในเมืองใหญ่...แต่แค่ทักทายกันข้ามกำแพงบ้าน ยังแทบไม่มี!  ประสาอไรกับหนูน้อยยุคใหม่ ชีวิตจึงไม่ต้องมีตัวช่วยเพื่อสร้างฝันอีกต่อไป...

          ไม่มี..เจ้าหญิงผู้งดงาม..ขาดไร้เจ้าชายผู้อาจอง และอาณาจักรพระราชาผู้ใจดีในนิยาย..
          ในฝัน.ของหนูน้อย คงไม่ต้องคอย ทิงเกอร์เบลล์ มาชวนไปท่องโลกจินตนา...หรือหมีพรู์ตัวน้อยที่คอยกระิบปลอบโยนเมื่อยามเศร้าให้เสียเวลา

ชีวิตที่ไร้ “จินตนาการ” กำลังทำให้เราเป็น “มนุษย์สำเร็จรูป” กันมากขึ้น

ตารางชีวิตที่ถูกขีดไว้เพื่อให้ เกิด แก่ เจ็บ และ ตายภายใต้กรอบซ้ำซาก..ทำให้เราอาจไม่ต่างกับสังคม “มดงาน” ที่วิถีบังคับให้รับสภาพของการเกิดมาเพื่อ “ภาระกิจ”


ตราบใดที่สังคมยังไม่รู้จัก “เงยหน้า”  และ “จินตนาการ” ยังไม่ใช่ส่วนหนึ่งของชีวิต ...เราคงสรุปค่าของชีวิตไว้อย่างน่าเสียดายที่เกิดมาแล้วได้ทิ้งขว้างส่วนสำคัญที่สุดไปอย่างน่าอาลัย!

 


ผมคิดถึง.. แม่นางฟ้าทิงเกอร์เบลล์แห่งสงขลาวัฒนา...
ขอบคุณ...ที่เธอมาพร้อมจินตนาการหยิบยื่นใส่มือเด็ก ๆ ในวันนั้น...


Life is but a dream….  ชีวิตนี้มีฝัน ผ่านบทเพลง “สหวัย” ในวันนั้นจึงเป็นคำตอบที่เธอนำมามอบให้ศิษย์รัก ได้จดจำคำสำคัญ  เพื่อให้ชีวิตนี้  ..ไม่แห้งแล้ง และขาดไร้สิ่งที่มนุษย์โหยหาที่เรียกว่า “ความสุข”

 

ถามใจตัวเองว่า....  “ชีวิตนี้ยังมีฝัน” เหลือกันอยู่อีกกี่คน!???










ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น