วันศุกร์ที่ 18 สิงหาคม พ.ศ. 2560

สมนึก เพชรพริ้ม หนึ่งใน "บุรุษผู้มากับความฝัน"



เป็นข่าวที่น่ายินดีว่า..ด้วยความก้าวหน้าของเทคโนโลยีด้านไอที อย่างโซเชียลเนทเวริค์ ได้มีส่วนช่วยให้โรงเรียนที่ใกล้จะลืมเลือนไปในความทรงจำ ได้มีโอกาสหวนกลับมารำลึกกันอีกครั้ง และที่สำคัญ พี่พ้องน้องเพื่อนเหล่านักเรียนที่เคยอาศัยโรงเรียนในร่มไผ่เหลืองแห่งนี้ ได้มีโอกาสเสวนาฮาเฮเรื่องเล่าเก่ากาลในยุคที่วัยกำลังใสสดผ่านไอทีให้หวลรำลึกกันง่ายขึ้น

โรงเรียนสงขลาวัฒนา...เป็นสถาบันบ่มเพาะประสิทธิประสาทวิชาการให้แก่เหล่านักเรียนในวัยเยาว์...เป็นสถานทีฝึกปรือฝีมือสำหรับคุณครูมือใหม่ที่จะได้รับประสบการณ์ดีๆ เพื่อการก้าวไปสู่วิถีชีวิตของครูบาอาจารย์ทีเข้มข้นต่อไปในภายหน้า ..เป็นแหล่งเรียนรู้และซึมซัมมิตรภาพให้แก่กันและกันมาจวบจนวาระสุดท้ายของโรงเรียนแห่งนี้

เราคงจะไม่สามารถประกาศตัวได้ว่าครั้งหนึ่งเราคือศิษย์เก่าสถาบันแห่งนี้ได้เลย...หากเราละเลยที่จะเอ่ยนามของบุคคลสำคัญที่สุดของสถาบันแห่งนี้....ผู้ชายร่างเล็ก บุคลิกทะมัดทะแมงเข้มแข็ง กับผมสีดอกเลาแต่แต่งเกลาทรงผมไว้อย่างเรียบแป้อย่างมีวินัยตลอดเวลา

ผู้ชายที่เด็กรุ่นผมเรียกท่านว่า “คุณลุง” หรือนามเต็มของท่านคือ    สมนึก เพชรพริ้ม

ผู้รับใบอนุญาตหรือเรียกแบบชาวบ้านว่า “เจ้าของโรงเรียน” ตัวจริงท่านนี้คือผู้ก่อร่างสร้างโรงเรียนในนาม “สงขลาวัฒนา” ซึ่งได้มีวัฒนาการปรับปรุงจากอดีตโรงเรียนเดิมที่ชื่อ ประพันธ์วิทยา มาเป็น สงขลาวัฒนา ด้วยแนวคิด..และด้วยความตั้งใจมุ่งมั่นที่จะสานฝันของท่านให้เมืองแห่งนี้ได้มีสถาบันการศึกษาดีๆ ไม่แพ้โรงเรียนดังๆทั้งหลายในเมืองหลวงกรุงเทพฯ

จากนักเรียนทุน British Council ลุงสมนึกท่านจบด้านกฎหมายจากสหราชอาณาจักร ดังนั้นนอกจากเก่งกาจด้านกฎหมายแล้วท่านยังเชี่ยวชาญด้านภาษาอังกฤษชนิดหาตัวจับยาก



 (ในภาพ ถ่ายเมื่อ พ.ศ. 2503 : คุณลงสมนึก เพชรพริ้มนั่งคนที่สี่จากขวา ส่วนทีสองจากขวาคือ ศ.ดร.สตางค์ มงคลสุข อดีตผู้ร่วมก่อตั้งและเป็นอธิบการบดีมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ที่มาภาพ : หอจดหมายเหตุ ม.สงขลานครินทร์)


 

หนังสือแปลดีๆ ในอดีตอย่าง ระบอบการปกครองโดยธรรม, บุรษผู้มากับความฝัน และโดยเฉพาะหนังสือแปลที่ชื่อ พระยากัลยาณไมตรี ถือเป็นหนังสือแปลที่มีคุณค่าทางประวัติศาสตร์ที่สะท้อนให้เห็น และสิ่งที่ยืนยันว่าคุณลุงสมนึก ท่านมุ่งมั่นในการที่จะสร้างโรงเรียนสงขลาวัฒนาเพียงใด ปรากฏในหนังสือที่ท่านแปลซึ่งระบุชัดว่า “เพื่อเป็นการหาทุนในสร้างโรงเรียนสงขลาวัฒนา”


และที่น่าภาคภูมิใจสำหรับพี่พ้องน้องพี่ที่ผ่านรั้วโรงเรียนแห่งนี้มาจะได้ทราบข้อเท็จจริงที่พึ่งทราบว่า โรงเรียนสงขลาวัฒนานั้นกำเนิดขึ้นมาด้วยความรักและเทิดทุนในสถาบันพระมหากษัตริย์ โดยเฉพาะสมเด็จพระมหาธีรราชเจ้า ในหลวงรัชกาลที่ 6 ไม่ต่างกับโรงเรียนดังอย่างมหาวชิราวุธ หรือวชิราวุธวิทยาลัย


 
หนังสือ “บรุษผู้มากับความฝัน” เป็นหนังสือที่คุณลุงสมนึกท่านเขียนขึ้นร่วมกับ แมรี่ เอลกิ้น เลาเกเซ่น (Mary L. Laugesen ) บุตรสาวของ ดร.จอห์น เอ เอกิ้น(Dr.John A. Eakin) และเป็นอดีตอาจารย์สอนภาษาอังกฤษที่มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์เมื่อ ปี. พ.ศ.2519 และเมื่อบิดาคือ ดร.จอหน์เสียชีวิตลง อ.แมรี่ ก็ได้ก่อตั้งกองทุน เอกิ้น เลาเกเซ่นอนุสรณ์ (THE EAKIN LAUGESEN MEMORIAL FUND) เพื่อมอบทุนให้แก่อาจารย์ดีเด่นตามสถาบันมหาวิทยาลัยต่างๆ มาจวบจนปัจจุบัน

ดร.จอห์น เอ เอกิ้น ท่านเป็นผู้ร่วมก่อตั้งโรงเรียนกรุงเทพคริสเตียนวิทยาลัย และได้เข้ามาประเทศไทยเมื่อ พ.ศ.2423 ในฐานะแพทย์และอาจารย์สอนในโรงเรียนในวัง แต่สุดท้ายท่านขอลาออกเพื่อเดินตามความฝันในการที่จะสร้างโรงเรียนเพื่อให้สามัญชนทั่วไปสามารถเข้าถึงการศึกษาได้อย่างเท่าเทียมกัน

ในหนังสือ "บุรุษผู้มากับความฝัน" ที่คุณลุงสมนึกท่านเขียนไว้ มีถ้อยความตอนหนึ่งว่า

“......อาจารย์จอนจึงขอเข้าเฝ้าสมเด็จกรมพระยาดำรงฯ ซึ่งในขณะนั้นทรงดำรงตำแหน่งเสนาบดีกระทรวงมหาดไทย เพื่อถวายใบลาออกเมื่อสิ้นปีหน้า

สมเด็จกรมพระยาดำรง ทรงนำอาจารย์จอนไปชมสถานที่ใหม่ซึ่งเตรียมไว้เป็นโรงเรียนใหม่ในพระบรมราชวัง พระองค์ท่านทรงเสนอตำแหน่งใหม่คือตำแหน่งครูใหญ่แก่อาจารย์จอน พร้อมทั้งขึ้นเงินเดือนให้ด้วย พระองค์ท่านทรงให้อำนาจอิสระในการดำเนินกิจการโรงเรียนด้วย

อาจารย์จอนกราบทูลถามสมเด็จกรมพระยาว่า “นักเรียนของโรงเรียนนี้ จะมาจากเด็กในครอบครัวใด”

“มาจากพระราชโอรสของพระมหากษัตริย์ เจ้านาย และครอบครัวขุนนาง” สมเด็จกรมพระยาทรงตอบ

“หัวใจของข้าพระพุทธเจ้าได้มุ่งมั่นเสียแล้วที่จะช่วยเหลือลูกๆของสามัญชน” อาจารย์กราบทูลต่อไป “จะให้ทุนแก่นักเรียนที่สอบแข่งขันเข้าเรียนโดยไม่ต้องคำนึงว่าเด็กนั้นจะมาจากอาชีพไหนได้ไหมพะยะค่ะ”

สมเด็จกรมพระยาทรงสั่นพระเศียรด้วยความเสียพระทัย ทรงตอบว่า “เรายังไม่พร้อมที่จะไปถึงขั้นนั้น เราเสียใจ แต่เรายังมองไม่เห็นว่าจะมีข้อแม้อะไรมาเป็นอุปสรรคมิให้เรากระทำได้ในอนาคตอันใกล้นี้”



บุรุษผู้มากับความฝัน จึงน่าจะเป็นต้นทางต้นคิดที่เป็นแรงบันดาลใจที่ทำให้คุณลุงสมนึกท่านมีความมานะที่จะเดินตามสิ่งที่ ดร.จอหน์ เคยมุ่งมั่นที่จะทำให้การศึกษาได้เข้าถึงชนทุกชั้นอย่างไม่มีแบ่งแยก...

มูลนิธิพนมชนารักษ์อนุสรณ์ ที่มีคุณลุงเป็นหนึ่งในผู้บริหารถือเป็นกำลังหลักในการผลักดันให้ สงขลาวัฒนา กำเนิดขึ้นในที่สุด

และด้วยลักษณะนิสัยส่วนตัวของท่านที่มีความจงรักภักดีต่อสถาบันพระมหากษัตริย์อย่างน่าชื่นชม กิจการลูกเสือหรือที่เรียกว่า “กองลูกเสือสงขลาวัฒนา” แม้นจะเป็นเพียงกองลูกเสือเล็กๆ ทว่าความยิ่งใหญ่ในด้านชื่อเสียงก็เผยแพร่ไปทั่วโลกได้ไม่อายใคร

หลายครั้งที่กองลูกเสือโลกหลากหลายเชื้อชาติได้มีโอกาสมาเยือนโรงเรียนในร่มไผ่ .... แม้นวัยจะต่างกัน แต่มือซ้ายที่กระชับจับมั่นในขณะที่มือขวาแสดงความเคารพในแบบฉบับลูกเสือ หลายคนในวันนั้นคงจำได้ว่ามันประทับใจเพียงใด

แม้นในวัยที่ท่านอายุอานามมากขึ้น..เรี่ยวแรงเริ่มถดถอย ทว่าหัวใจของท่านยังมุ่งมั่นที่จะทำภาระกิจสำคัญที่จะแสดงออกถึงการเทิดทุนต่อสถาบันฯ และด้วยความชื่นชอบในการเล่นเรือใบเป็นชีวิตจิตใจ ท่านตัดสินใจที่จะต่อเรือและล่องเรือใบจากท้องทะเลสงขลาเข้ากรุงเทพมหานคร เมื่อครั้งกรุงเทพมหานครมีการฉลองครบสองร้อยปี ...แม้นกิจภาระของท่านในครั้งนั้นอาจประสบอุปสรรคจนไม่สามารถบรรลุถึงสิ่งที่ตั้งใจได้ แต่สิ่งที่นักเรียนในโรงเรียนจะเห็นกันทุกเช้าเย็นคือ “การต่อเรือ” ภายในโรงเรียน

กองลูกเสือสมุทรเสนา..เป็นกองลูกเสือที่เด็กๆ นักเรียนในอำเภอหาดใหญ่ต่างงงงัน และน่าจะนับว่าเป็นกองลูกเสือสมุทรเสนาโรงเรียนเดียวในจังหวัดสงขลาในเวลานั้นก็ว่าได้

“ตุล ยี่สิบเอ็ดนี้ชัยวาร...วันเกิดวิทยสถานเอกอ้าง
สงขลาวัฒนา ขนาน ...นามมิ่ง ขวัญแฮ
จงเจริญเสกสร้าง.........ยอดแท้ เยาวชน”


 ถ้อยประพันธ์งดงาม ที่ติดข้างผนังอาคารดังกล่าวนั้นได้รับความเมตตาจากพลตรี พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าวรรณไวทยากร กรมหมื่นนราธิปพงศ์ประพันธ์ ได้ทรงประพันธ์ให้แก่โรงเรียนสงขลาวัฒนาเป็นกรณีพิเศษ

โรงเรียนสงขลาวัฒนา ยังได้รับพระเมตตาจากสมเด็จย่า เสด็จมาเยือนโรงเรียนแห่งนี้เป็นการส่วนพระองค์ และนอกจากนี้ผู้ที่มีชื่อเสียงด้านการศึกษา อาทิ หม่อมหลวงปิ่น มาลากุล ก็ได้มีโอกาสแวะมาเยี่ยมเยียนโรงเรียนสงขลาวัฒนาอยู่หลายครั้งเช่นกัน

ในเกือบบั้นปลายชีวิต คุณลุงสมนึก เพ็ชรพริ้ม ท่านมีดำริในการเตรียมย้ายโรงเรียนสงขลาวัฒนา ไปตั้งแห่งใหม่ทางทิศเหนือของอำเภอหาดใหญ่ (ตำบลบ้านดินลาน) แต่ด้วยเหตุผลและปัญหาหลายประการทำให้ การสร้างโรงเรียนใหม่ต้องมีอันยุติลง

สงขลาวัฒนา ปิดตัวลงในราว ๆปี พ.ศ.2538 พร้อม ๆ กับการปิดตำนาน "โรงเรียนในร่มไผ่" และทิ้งไว้เพียง ความทรงจำดีๆ ให้แก่ลูกศิษย์,และอาจารย์ที่เคยร่วมใช้ชีวิตในโรงเรียนแห่งนี้

และที่สำคัญ..... บุคคลที่เราทุกคนจะไม่มีวันลืมท่าน.... อีกหนี่ง บรุษผู้มากับความฝัน “คุณลุงสมนึก เพชรพริ้ม”

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น